ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ของทุกปี ประชาชนคนไทยต่างตั้งหน้าตั้งตาที่จะได้กลับถิ่นฐานของตนเอง เพื่อไปรดน้ำดำหัวผู้หลักผู้ใหญ่ที่เคารพ เนื่องในวันปีใหม่ไทย ความเป็นสิริมงคล ในขณะเดียวกัน พุทธศาสนิกชนไทย ที่อยู่หรือเข้ามาท่องเที่ยวในกรุงเทพฯ นั้น จะมีโอกาสได้สักการะพระศักดิ์สิทธิ์ คู่บ้านคู่เมือง นั่นก็คือ พระพุทธสิหิงค์ ซึ่งในปัจจุบันประดิษฐานอยู่ ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร เป็นประจำทุกปี
เช่นเดียวในปีนี้ ที่ทางกรุงเทพมหานครได้ จัดงานมหาสงกรานต์ ปี 2552 "ยิ้มรับสงกรานต์ สานสามัคคี" ในวันที่ 12-15 เมษายน ศกนี้ จะได้อัญเชิญ พระพุทธสิหิงค์มาที่มณฑลพิธีท้องสนามหลวงเพื่อให้ประชาชนได้สักการะอีกครั้ง
เมื่อกล่าวถึง พระพุทธสิหิงค์ กันแล้ว มาศึกษาประวัติของพระพุทธรูปองค์นี้กันว่ามีความเป็นมาอย่างไร พระพุทธสิหิงค์เป็นพระพุทธรูปที่พระมหากษัตริย์จากลังกา 3 พระองค์ได้รวมพระทัยกับพระอรหันต์ในเกาะลังกา สร้างขึ้น เมื่อพ.ศ.700 โดยมีพญานาคที่เคยได้เห็นพระพุทธองค์แปลงกายมาเป็นแบบ และได้ประดิษฐานเป็นที่เคารพสักการะแก่ชาวลังกามาเป็นเวลาช้านาน
ต่อมาในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ได้ทราบถึงพุทธลักษณะที่งดงามของพระพุทธสิหิงค์ จึงโปรดเกล้าฯ ให้คณะทูตอัญเชิญพระราชสาส์นไปขอพระราชทานจากพระเจ้ากรุงลังกา จากนั้นพระพุทธสิหิงค์จึงได้ถูกอัญเชิญมาประดิษฐาน ณ กรุงสุโขทัย แต่ด้วยสถานการณ์การเมืองที่เปลี่ยนไปในสมัยต่อมา พระพุทธสิหิงค์ จึงได้ถูกอัญเชิญไปประดิษฐานตามเมืองต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพิษณุโลก อยุธยา กำแพงเพชร เชียงราย เชียงใหม่ จนถึงรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สมเด็จพระบวรเจ้ามหาสุรสิงหนาท จึงได้อัญเชิญพระพุทธสิงหิงส์มายังกรุงเทพมหานคร ในปี 2338 และได้ประดิษฐานอยู่ ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์มาจนถึงทุกวันนี้
นางอมรา ศรีสุชาติ ผอ.พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กล่าวว่า พอถึงช่วงเทศกาลสงกรานต์ของทุกปี พระพุทธสิหิงค์ จะถูกอัญเชิญจากพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร ไปประดิษฐานยังท้องสนาม ซึ่งถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติมาตั้งแต่ พ.ศ.2477 ในสมัยพระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นนายกรัฐมนตรี โดยทางการจัดขึ้นเพื่อให้พุทธศาสนิกชน ได้มาสักการะและสรงน้ำเป็นประจำทุกปีจนถึงปัจุบันให้ เกิดความเป็นสิริมงคลต่อตนเอง ซึ่งตามความเชื่อของคนไทย ถือว่าการได้มากราบและสรงน้ำพระคู่บ้านคู่เมือง จะนำความเป็นมงคลมาสู่ตนเองในช่วงวันขึ้นปีใหม่ไทย ในขณะเดียวกัน พระพุทธสิหิงค์ ถือเป็นพระพุทธรูปที่มีความศักดิ์สิทธิ์ และเป็นที่เคารพมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยด้วย
ด้าน ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า สำหรับประชาชนที่เข้ามาเที่ยวงานสงกรานต์ของกรุงเทพมหานครที่มณฑลพิธีท้อง สนามหลวงนั้น นอกจากจะได้สักการะพระพุทธสิงหิงค์แล้ว ยังจะได้ร่วมพิธีทำบุญตักบาตร และรดน้ำดำหัวขอพรผู้ใหญ่ แล้วยังได้ร่วมชมขบวนรถบุปผชาติและขบวนพาเหรดพฤกษชาติ กว่า 30 คัน นับเป็นการสืบสานประเพณีไทยในการเฉลิมฉลองปีใหม่แบบดั้งเดิมที่สืบทอดกันมา อย่างยาวนานโดยเฉพาะในส่วนของบรรยากาศสวนน้ำพุดนตรี 7 นางสงกรานต์ ที่แวดล้อมด้วยต้นไม้นานาพันธุ์ทั้ง ไม้สวนและไม้ดัด บ้านเรือนไทยจำลอง นิทรรศการสงกรานต์และการละเล่นพื้นเมืองทั้ง 4 ภาค ซึ่งจำลองมาไว้เพื่อให้ประชาชนได้ชมในงานนี้ด้วย
เรียกได้ว่าการเข้ามาท่องเที่ยวงานสงกรานต์ของกรุงเทพมหานครนอกจากจะได้ สักการะพระพุทธสิหิงค์ เสริมบารมีและสร้างสิริมงคลให้ชีวิตแล้ว ยังจะได้สัมผัสถึงวัฒนธรรมอันดีงามของประเพณีสงกรานต์ของชาวไทยจากทุกภาคอีก ด้วย
สำหรับผู้สนใจเข้าร่วมสักการะพระพุทธสิงหิงค์ และเที่ยวงาน "ยิ้มรับสงกรานต์ สานสามัคคี" สามารถเข้าร่วมงานได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ หรือสองถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กองการท่องเที่ยวกรุงเทพมหานคร โทร.0-2225-7612-4
ที่มา...หนังสือพิมพ์ข่าวสด