Friday, April 17, 2009

พระนิรันตราย 2 กษัตริย์



พระนิรันตราย 2 กษัตริย์ "สมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ"

ปี 2552 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชานุญาตให้สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดสร้าง "พระนิรันตราย (จำลอง) สองกษัตริย์ ครั้งแรกในรอบ 141 ปี" โดยจำลององค์ใน (องค์ดั้งเดิม) เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิเพชร หน้าตัก 3 นิ้ว สูง 4 นิ้ว มีพุทธลักษณะแบบศิลปะทวารวดี และจำลององค์นอก ซึ่งสวมครอบไว้อีกชั้นหนึ่ง เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิเพชรเช่นเดียวกันหน้าตัก 5 นิ้วครึ่ง

พุทธลักษณะพระนิรันตรายแบบอย่างสกุลช่างรัตนโกสินทร์ ครองผ้าอย่างยุติธรรม งดงามตามแบบพระพุทธรูปที่สร้างในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เบื้องหลังมีซุ้มเรือนแก้วเป็นพุ่มมหาโพธิ์ มีอักขระขอมจำหลักลงในวงกลีบบัวเบื้องหน้า 9 เบื้องหลัง 9 พระคุณนามแสดงพระพุทธคุณ ยอดเรือนแก้วมีรูปพระมหามงกุฎติดอยู่กับฐาน ชั้นล่างของฐานพระทำเป็นที่สำหรับสรงน้ำพระ มีท่อเป็นรูปหัววัว แสดงเป็นที่หมายพระโคตรซึ่งเป็นโคตรมะ และพระนิรันตราย อันมีความหมายว่า "ปราศจากอันตราย นิรันดร์" เป็นพระบูชารัชกาลแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีพุทธลักษณะอันงดงามของศิลปะสองยุค ด้วยองค์ใน (องค์ดั้งเดิม) เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิเพชร ศิลปะสมัยทวารวดี ส่วนองค์นอกที่สร้างครอบไว้นั้นเป็นพระพุทธรูปปางสมาธิเพชร ครองผ้าแบบธรรมยุต ศิลปะรัตนโกสินทร์ตอนกลาง

เหตุแห่งพระนามพระนิรันตรายนั้น ด้วยเกิดเหตุอัศจรรย์หลายครั้งคราตามบันทึกกล่าวไว้ว่า ในครั้งนั้น เมื่อปีพ.ศ. 2399 กำนันอิน ซึ่งเป็นชาวเมืองปราจีนบุรี ได้ฝันว่าจับช้างเผือกได้ และหลังจากนั้นไม่นาน กำนันอินกับบุตรชายชื่อนายยัง เดินทางเข้าป่าเพื่อขุดมันนกในบริเวณชายป่า ห่างจากดงศรีมหาโพธิ์ประมาณ 3 เส้น ก็ได้พบพระพุทธรูปสมัยทวารวดี หล่อด้วยทองคำเนื้อหก มีน้ำหนักถึง 8 ตำลึง เป็นที่อัศจรรย์ยิ่งนัก จึงนำไปมอบให้พระเกรียงไกร กระบวนยุทธ์ ปลัดเมืองฉะเชิงเทรา เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระพุทธรูปทองคำไปประดิษฐาน ณ หอพระเสถียรธรรมปริตรคู่กับพระกริ่งทองคำน้อย

ครั้นปีพ.ศ. 2403 มีคนร้ายลักลอบเข้าหอเสถียรธรรมปริตร ได้ลักเอาพระกริ่งทองคำองค์น้อยไป เป็นที่น่าอัศจรรย์ใจอย่างยิ่งที่กลับไม่ลักเอาพระพุทธรูปทองคำที่ประดิษฐาน อยู่คู่กันไปด้วย ทั้งที่องค์พระมีขนาดใหญ่กว่ามาก พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริว่า...พระพุทธรูปที่ กำนันอินทูลเกล้าฯ ถวายนั้น เป็นทองคำทั้งแท่ง และใหญ่กว่าพระกริ่ง ควรที่คนร้ายจะลักองค์ใหญ่ไปแต่กลับละไว้ เช่นเดียวกับผู้ที่ขุดได้ไม่ได้ทำอันตราย เป็นเรื่องอัศจรรย์ยิ่งนักที่แคล้วคลาดถึง 2 ครั้ง พระองค์จึงถวายนามว่า "พระนิรันตราย"

จาก นั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริให้เจ้าพนักงานทำการหล่อพระพุทธรูปนั่ง ปางสมาธิเพชร เนื้อทองคำ ขนาดหน้าตักกว้าง 5 นิ้วครึ่ง เพื่อครอบพระนิรันตรายไว้อีกชั้นหนึ่ง และโปรดฯให้หล่อเป็นเนื้อเงินบริสุทธิ์อีกองค์หนึ่งไว้คู่กัน ต่อมาทรงมีพระราชดำริว่า พระสงฆ์คณะธรรมยุติกนิกาย ซึ่งทรงสถาปนาขึ้นแพร่หลาย จนมีผู้ศรัทธาสร้างวัดถวายในนิกายนี้มากขึ้น ในพ.ศ. 2411 จึงโปรดฯ ให้ช่างหล่อพระพุทธรูปนี้ขึ้น 18 องค์ เท่าจำนวนปีที่เสวยราชย์ เพื่อถวายเป็นที่ระลึกแก่วัดในนิกายนั้น แต่สวรรคตเสียก่อน มาถวายในรัชกาลที่ 5

ต่อมารัชกาลที่ 6 พ.ศ. 2468 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชปรารภว่า เสวยราชย์มาเท่ากับรัชกาลที่ 2 จึงโปรดฯ ให้ช่างหล่อพระพุทธรูปนั่งสมาธิกาไหล่ทองรวม 16 องค์ ขนานนามว่า "พระ นิโรคันตราย" มีรูปนาคแปลงเป็นมนุษย์ เชิญฉัตรกั้น พระรูปหนึ่ง เชิญพัดโบกรูปหนึ่ง อยู่สองข้างข้างละรูป ถวายพระมหานิกาย 15 องค์ เก็บไว้กับพระนิรันตรายในพระบรมมหาราชวังองค์หนึ่ง และประดิษฐาน ณ หอพระสุลาลัยพิมานพระบรมมหาราชวังจนบัดนี้

เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2552 สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) วัดสระเกศ ได้เป็นประธานประกอบพิธีเททอง และกดพิมพ์เป็นปฐมฤกษ์ "พระนิรันตราย (จำลอง) สองกษัตริย์ ครั้งแรกในรอบ 141 ปี" ณ มณฑลพิธีหน้าพระบรมราชานุสาวรีย์สองกษัตริย์ มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ พระเกจิคณาจารย์นั่งอธิษฐานจิต 8 ทิศ ได้แก่ หลวงปู่เจือ วัดกลางบางแก้ว, หลวงพ่อเอื้อน วัดวังแดงใต้, หลวงพ่อรวย วัดตะโก, หลวงพ่อสาคร วัดหนองกรับ, หลวงพ่อฟู วัดบางสมัคร, หลวงพ่ออวยพร วัดดอนยายหอม, หลวงพ่อสืบ วัดสิงห์ และหลวงพ่อสวาท วัดอ่าวหมู

วัตถุประสงค์เพื่อ นำรายได้ทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโครงการมูลนิธิชัยพัฒนา เพื่อเป็นสิริมงคลยิ่งแก่ผู้มีไว้ครอบครองและเป็นการตอบแทนผู้ที่ร่วมบริจาค เพื่อสร้างอาคาร 100 ปี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวของสมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่ได้ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2489 เพื่อให้นิสิตเก่าชาวจุฬาฯ ทุกคณะ ทุกรุ่นได้มีศูนย์กลางในการพบปะสังสรรค์แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และร่วมกันคิดสร้างสรรค์กิจกรรมที่มีคุณประโยชน์ทั้งต่อนิสิตเก่า และนิสิตปัจจุบัน
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ โทร.0-2215-3488, 08-2223-1112-7 หรือตามศูนย์พระเครื่องชั้นนำทั่วไป
ที่มา...หนังสือพิมพ์ข่าวสด วันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2552