Friday, April 17, 2009

เหรียญหลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง



สวัสดีครับ ท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน วันนี้เราจะมาคุยกันถึงเหรียญหลวงปู่เอี่ยม วัดหนังกันครับ เหรียญหลวงปู่เอี่ยม วัดหนังถือเป็นเหรียญสุดยอดนิยมของพระเครื่องประเภทเหรียญ จัดอยู่ในชุดเบญจภาคีเหรียญ และมีมูลค่าราคาสูงมาก เหรียญหลวงปู่เอี่ยมมีทั้งเหรียญยันต์สี่ เหรียญฉลุทองคำ เหรียญฉลุยกหน้า และเหรียญยันต์ห้า ทีนี้เรามาคุยกันถึงมูลเหตุการสร้างและรายละเอียดว่ามีสร้างด้วยกันกี่แบบ กี่เนื้อ

เหรียญหลวงปู่เอี่ยม จัดสร้างขึ้นเมื่อคณะศิษย์ของหลวงปู่ได้ขออนุญาตจัดสร้างขึ้นไว้เป็นที่ ระลึก หลวงปู่ก็ได้อนุญาตให้สร้าง ลูกศิษย์ของหลวงปู่ชื่อ โกศล สิริเวชกุล หรือที่ชาวบ้านมัก เรียกกันว่า "หมอกิม" ได้ติดต่อให้นายเนียม ซึ่งเป็นช่างทองรับไปจัดทำ ซึ่งในครั้งแรกก็คือเหรียญยันต์สี่ มีด้วยกันสองเนื้อคือเนื้อทองแดงและเนื้อเงิน ด้านหลังของเหรียญยังแบ่งเป็นสองแบบคือแบบสามจุดและหลังสี่จุด จำนวนเหรียญที่สร้างประมาณ 5,000 เหรียญ เป็นเหรียญแบบสี่จุดประมาณ 4,000 เหรียญและหลังแบบ 3 จุดประมาณ 1,000 เหรียญ

นอกจากนี้ช่างยังได้ออกแบบพิเศษขึ้นมาอีกแต่มีจำนวนน้อยตามผู้สั่งทำคือ เหรียญฉลุยกหน้า เนื้อทองคำและเนื้อเงิน เหรียญฉลุเนื้อทองคำ เหรียญฉลุเนื้อทองคำลงยา เหรียญแบบพิเศษนี้ริเริ่มสั่งทำโดยหมอกิม ซึ่งหมอกิมได้มอบให้ช่างทองอีกคนหนึ่ง คือช่างเจ๋ง อยู่ที่ภาษีเจริญ เป็นผู้จัดทำ เหรียญแบบพิเศษทั้ง 3 แบบนี้ได้แกะแม่พิมพ์ขึ้นใหม่ ดังนี้ เหรียญแบบฉลุยกหน้า ใช้แบบจากรูปถ่ายที่หลวงปู่มีผ้ารัดประคด และเหรียญฉลุทองคำทั้งแบบลงยาและไม่ลงยา ที่แกะแม่พิมพ์ขึ้นใหม่ ซึ่งต่อมาก็นำมาใช้เป็นแม่พิมพ์เหรียญยันต์ห้านั่นเอง ส่วนด้านหลังของเหรียญแบบฉลุทองคำทั้งสองแบบใช้แม่พิมพ์ของเหรียญยันต์สี่มา เป็นแม่พิมพ์

เหรียญหลวงปู่เอี่ยมหลังยันต์สี่นี้ได้แจกจ่ายให้แก่ผู้บริจาคเงินสมทบทุน การปฏิสังขรณ์ศาลาการเปรียญ ของวัดหนัง ส่วนเหรียญแบบพิเศษนั้น สร้างหลังจากที่สร้างเหรียญยันต์สี่แบบธรรมดา ไม่นานนักคือหมอกิมได้นำทองคำไปให้ช่างทองคำให้เมื่อทำเสร็จ มีคนอื่นเห็นเข้าต่างก็ชอบใจจึงได้ไหว้วานให้หมอกิมจ้างช่างให้ทำให้บ้าง แต่ก็สร้างน้อยมากตามผู้สั่งทำ ส่วนมากก็เป็นศิษย์ใกล้ชิดหลวงปู่แทบทั้งสิ้น เหรียญของหลวงปู่เอี่ยมหลังยันต์สี่ทั้งแบบเนื้อทองแดง เนื้อเงินและแบบพิเศษ ทุกเหรียญ การตัดขอบของเหรียญหลังจากปั๊มเหรียญเสร็จแล้ว จะตัดขอบด้วยการใช้เลื่อยฉลุตัดขอบทุกเหรียญ ที่เรามักจะเรียกกันว่า "เหรียญข้างเลื่อย" นั่นเองครับ

ส่วนเหรียญยันต์ห้านั้นสร้างต่อมาในภายหลังจากเหรียญยันต์สี่ โดยพระครูคำและพระปลัดแจ้ง ได้ไปขออนุญาตหลวงปู่ขอจัดสร้างเหรียญไว้อีกรุ่นหนึ่ง เพื่อเป็นอนุสรณ์ หลวงปู่ก็ไม่ได้ขัด พระปลัดแจ้งจึงได้ไปให้ช่างเนียมได้จัดทำให้ โดยใช้แม่พิมพ์เหรียญฉลุทองคำเป็นแม่พิมพ์ด้านหน้า ส่วนด้านหลังก็แกะแม่พิมพ์ขึ้นใหม่เป็นแบบยันต์ห้า สร้างจำนวนประมาณ 1,000 เหรียญ เป็นเนื้อสัมฤทธิ์ เมื่อสร้างเสร็จแล้วก็ได้นำไปให้หลวงปู่เสก หลังจากนั้นอีกประมาณสามเดือนหลวงปู่ก็มรณภาพลง

เหรียญหลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง ก็เป็นอย่างที่ผมเล่ามานี่แหละครับและในวันนี้ผมก็ได้ไปขอรูปเหรียญฉลุยก หน้าเนื้อเงิน ของคุณบอย พระจันทร์ มาให้ท่านผู้อ่านชมกันทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ขอขอบคุณ คุณบอย ท่าพระจันทร์ ที่กรุณาเอื้อเฟื้อภาพมาในครั้งนี้ด้วย
ด้วยความจริงใจ แทน ท่าพระจันทร์ ที่มา...หนังสือพิมพ์ข่าวสด วันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2552