Saturday, April 11, 2009

ความกตัญญู

ธรรมะวันหยุดพระเทพคุณาภรณ์ (โสภณ โสภณจิตฺโต ป.ธ.๙) เจ้าอาวาสวัดเทวราชกุญชร วรวิหาร watdevaraj@hotmail.com

คนดี ย่อมเป็นที่ยกย่องนับถือของคนทั่วไป เพราะอำนาจของความกตัญญูกตเวที ดังพระบาลีที่ว่า "ความกตัญญูกตเวที เป็นเครื่องหมายของคนดี"
กตัญญู หมายถึง บุคคลผู้รู้คุณของคนอื่น กตเวที หมายถึง บุคคลที่ตอบแทนผู้มีคุณแก่ตน ดังนั้น คำว่า กตัญญูกตเวที จึงหมายถึง บุคคลผู้รู้คุณที่คนอื่นกระทำแล้วและทำตอบแทนบุคคลที่มีคุณและสร้างสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่เรานั้นมีมากมาย ยกตัวอย่างเช่น พ่อแม่ ครูอาจารย์ พระมหากษัตริย์ เป็นต้น

พ่อแม่ เป็นผู้ให้กำเนิดแก่ลูก เลี้ยงดู ป้องกันและรักษา พ่อแม่ที่เป็นพ่อแม่จริงๆ เมื่อให้กำเนิดลูกแล้วจะไม่ทอดทิ้ง ถึงแม้จะประสบความลำบากยากจน ลำเค็ญสักเพียงใดก็ตาม ก็จะไม่ทอดทิ้งลูก กลับคอยป้องกันภัยอันตรายต่างๆ ไม่ให้เกิดแก่ลูก เมื่อมีเหตุสุดวิสัยที่จะป้องกันได้ เช่น ต้องประสบภัยคือความเจ็บไข้ได้ป่วย พ่อแม่ก็ไม่ทอดทิ้งพยายามทำการรักษา พยาบาลด้วยตัวเองบ้าง หาหมอมารักษาบ้าง บางครั้งพ่อแม่ต้องทำงานหนัก อาบเหงื่อต่างน้ำ ยอมอด ยอมทนเพื่อลูก ต้องการให้ลูกได้ศึกษาเล่าเรียน มีความรู้ ความฉลาดเท่าทันคนอื่น

พ่อแม่ นอกจากจะให้กำเนิด เลี้ยงดู ป้องกันรักษาลูกแล้ว ท่านทั้งสองยังมีจิตใจที่ประกอบด้วยคุณธรรม คือ พรหมวิหารธรรม 4 ประการ อันได้แก่ เมตตา ความรักใคร่สนิทสนม กรุณา ความปรานีสงสารในเมื่อมีความทุกข์ยากเดือดร้อน มุทิตา พลอยยินดีในความสำเร็จของลูกด้วยความจริงใจ และอุเบกขา ความวางเฉยในเมื่อลูกมีการงานทำ สามารถเลี้ยงตนและครอบครัวได้

พ่อแม่ได้ทำการเลี้ยงดู จึงต้องเลี้ยงท่านตอบแทน ช่วยทำการงานของท่าน รักษาวงศ์สกุลไว้ ประพฤติตนให้เป็นผู้ควรรับมรดก เมื่อท่านล่วงลับไปแล้ว ควรทำบุญอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลไปให้ ดังนั้น พ่อแม่จึงเป็นผู้มีคุณแก่ลูกทั้งหลายครูอาจารย์ เป็นผู้ประสิทธิ์ประสาทความรู้ให้ ไม่ว่าจะเป็นระดับไหน ชั้นไหนก็ตาม เรียกว่าท่านสอนให้เรามีความรู้ ความสามารถ ประกอบด้วยคุณธรรม จริยธรรม นำคุณธรรมและจริยธรรมไปใช้เป็นเครื่องมือป้องกันตัวเอง นำความรู้ความสามารถไปใช้เป็นเครื่องมือในการประกอบอาชีพการงาน ครูอาจารย์นับได้ว่า เป็นครูคนที่สองรองจากพ่อแม่

ครูอาจารย์ ได้ทำการอบรมสั่งสอน จึงต้องทำการต้อนรับด้วยความเต็มใจ เมื่ออยู่ร่วมกับท่าน ต้องเข้าไปคอยอุปัฏฐากรับใช้ เมื่อไม่ได้รับใช้ใกล้ชิดท่าน เวลาท่านมีกิจเรียกใช้ ก็ยินดีรับใช้ เชื่อฟังคำสอนของท่านและตั้งใจศึกษาเล่าเรียน ดังนั้น ครูอาจารย์จึงเป็นผู้มีคุณแก่ศิษย์ทั้งหลายพระมหากษัตริย์ หมายถึง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ผู้ทรงเป็นพระประมุขของประเทศ สืบเชื้อสายมาจากกษัตริย์องค์ก่อนๆ ซึ่งได้รักษาเอกราชของประเทศมา ไม่ต้องตกเป็นเมืองขึ้นของชาติอื่น มอบมรดกคือเอกราชและอธิปไตยไว้ให้แก่พวกเรา แม้ทุกวันนี้พระองค์ทรงเป็นศูนย์รวมแห่งจิตใจของชนชาติไทย ทรงสละความสุขส่วนพระองค์เพื่อความสุขของพสกนิกร โดยไม่เลือกชั้นวรรณะ แม้จะอยู่ในถิ่นทุรกันดารไกลแสนไกลเพียงใด พระองค์ก็เสด็จไปบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ช่วยเหลือและให้กำลังใจเสมอ

ดังนั้น พระมหากษัตริย์ จึงเป็นผู้มีคุณแก่พสกนิกรทั้งหลาย สมควรที่บุคคลผู้อาศัยอยู่ใต้ร่มพระบารมีต้องประพฤติตนเป็นพลเมืองดี เคารพเชื่อฟังในพระบรมราโชวาทที่ตรัสสอนด้วยเหตุที่พ่อแม่ ครูอาจารย์ และพระมหากษัตริย์ ได้สร้างสิ่งที่เป็นประโยชน์ให้แก่ลูก จึงนับว่าเป็นผู้มีคุณ และสมควรอย่างยิ่งที่ทุกๆ คนควรที่จะตอบแทนคุณ คือ สร้างสิ่งที่เป็นประโยชน์ให้แก่ท่านเหล่านั้นบ้าง ตามสมควรแก่ความสามารถและโอกาสอำนวย
ที่มา... หนังสือพิมพ์ข่าวสดรายวัน